Pharm KKU Show & Share 2017 สนับสนุนการพัฒนางานบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ ปีที่ 6
วันที่ประกาศ 2017-08-16 อ่าน 767 ครั้ง
คณะเภสัชศาสตร์ ได้นำเครื่องมือ “การจัดการความรู้” หรือ Knowledge Management (KM) มาใช้เพื่อพัฒนาองค์กรอันจะนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยจะมีความหลากหลายทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของตัวบุคคล พัฒนาประสิทธิภาพงานและพัฒนาองค์กร ซึ่งมีเป้าหมายในการจัดการความรู้ภายในองค์กร คือการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรสายสนับสนุน จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา บุคลากรสายสนับสนุนภายในคณะเภสัชศาสตร์ ได้นำกระบวนการจัดการความรู้ไปพัฒนางาน โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีต่อตนเองและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผ่านการส่งเสริมชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practices :CoP) เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดการความรู้ของบุคลากรให้เกิดการมีส่วนร่วมด้วยกันมากขึ้น และเกิดเครือข่ายการสร้างงานร่วมกัน เพื่อสร้างผลการปฏิบัติงานและผลผลิตที่มีคุณภาพจากการบูรณาการบริหารจัดการชุมชุนนักปฏิบัติ (CoP) ของบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งจะนำไปสู่ผลการพัฒนาการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและเพื่อเผยแพร่ผลงานไปยัง โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในมหาวิทยาลัย และภายนอกเป็นประจำทุกปี
และเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา จึงได้จัด กิจกรรมการจัดการความรู้เพื่อพัฒนางานของกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs.) ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 หรือ Pharm KKU Show & Share 2017 ณ ห้องประชุมสุมนต์ สกลไชย และบริเวณ ชั้น 2 อาคาร 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ซึ่งมีกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติเข้าร่วมทั้งสิ้น 11 กลุ่ม และบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 50 คน โดยภายในงานเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานซึ่งเกิดจากการระดมสมองและคิดค้นพัฒนาของสมาชิกกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติทั้ง 13 กลุ่ม และแสดงผลงานผ่านโปสเตอร์ของแต่ละกลุ่ม
จากการนำเสนอผลงาน ผลการพิจารณาจากคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งประกอบด้วย ดร.เด่นพงศ์ พัฒนเศรษฐานนท์ รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา เป็น ประธานคณะกรรมการ, รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ดาดวง รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและพัฒนาองค์กร เป็น กรรมการ และนายบุญคงศิลป์ วานมนตรี หัวหน้าสำนักงานคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็น กรรมการ โดยผลการตัดสิน กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติที่ได้รับรางวัลผู้ชนะการประกวดผลงาน (Best Practice) ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ One Term One Product-Lab (CoP : OTOP-Lab.)
โดย นายสุพล บ่อคุ้ม หัวหน้ากลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ และสมาชิก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ชุมชนนักพัฒนาระบบสำนักงานอัตโนมัติ (OAS CoP) ปีที่ 2 Theme : Data to Information for Thailand 4.0
โดย นายอาทิตย์ วงษ์พระจันทร์ หัวหน้ากลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ และสมาชิก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ การพัฒนาระบบสแกนบาร์โค้ดเพื่อใช้บริหารเครื่องแก้วในห้องปฏิบัติการ
โดย นายเจตนา วีระกุล หัวหน้ากลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ และสมาชิก
ข่าว/ภาพ : กัณฐาภรณ์ วุฒิงาม/ธนันชนัย อุ่นสิม