ผลของน้ำผลไม้ไทย กล้วย ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มังคุด และสับปะรด ต่อสมรรถนะของเอนไซม์ไซโตโครม พี 450 : รศ.ดร.กนกวรรณ จารุกำจร
วันที่ประกาศ 2016-03-20 อ่าน 2801 ครั้ง
“ผลของน้ำผลไม้ไทย กล้วย ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มังคุด และสับปะรด ต่อสมรรถนะของเอนไซม์ไซโตโครม พี 450”
รองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ จารุกำจร และนักวิจัยในกลุ่มวิจัยฤทธิ์ทางยาของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติโดยเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชศาสตร์ หรือ PANPB มีความมุ่งหมายร่วมกันในการศึกษาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ สมุนไพร ผลไม้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีฤทธิ์ทางยาหรือมีผลกระทบต่อฤทธิ์ทางยา โดยใช้กระบวนการทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์ที่เป็นระบบ ให้สามารถตอบคำถามหรือเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับสารจากธรรมชาติให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์ โดยเน้นการวิจัยเชิงลึก 2 แขนง คือ การพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อผลิตเนื้อเยื่อพืชที่ให้สารที่มีฤทธิ์ทางยาที่มีคุณภาพและปริมาณตามที่ต้องการ อีกแขนงหนึ่งเป็นการศึกษาฤทธิ์ทางยาของสารสกัดจากสมุนไพร ผลไม้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตั้งแต่ระดับหลอดทดลองจนถึงการศึกษาผลกระทบในสัตว์ทดลอง ตลอดจนมุ่งศึกษาผลกระทบของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต่อการออกฤทธิ์ของยา อันเป็นการส่งเสริมกระบวนการพัฒนายาจากแหล่งธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์และให้ข้อมูลสนับสนุนที่แม่นยำ เชื่อถือได้ที่นำไปสู่การสนับสนุนให้มีการใช้จริงในมนุษย์ได้ต่อไป
.
.
โดยตัวอย่างการศึกษา “ผลของน้ำผลไม้ไทย กล้วย ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มังคุด และสับปะรด ต่อสมรรถนะของเอนไซม์ไซโตโครม พี 450” เป็นการศึกษาเพื่ออธิบายการเกิดความเป็นพิษของยาในทางคลินิกจากการบริโภคผลไม้ต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนให้ความใส่ใจต่อสุขภาพและนิยมบริโภคผลไม้เพิ่มมากขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ผลไม้ที่ถูกนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ได้แก่ กล้วย ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มังคุด และสับปะรด เป็นต้น น้ำผลไม้มักถูกบริโภคร่วมกับยารักษาโรคโดยไม่ตั้งใจอยู่เนืองๆ เป็นเหตุให้เกิดอาการพิษจากยาหรือยาไม่ได้ผลการรักษาเช่นเดิม ทั้งนี้เนื่องจากน้ำผลไม้เหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว จะมีผลเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์ในตับที่ทำหน้าที่ขับยาออกจากร่างกายได้ทำให้มีปริมาณยาคงเหลือในร่างกายมากขึ้นหรือนานขึ้นจนเกิดอาการพิษจากยา หรือทำให้ปริมาณยาลดน้อยลงจนไม่สามารถออกฤทธิ์รักษาได้ดังเดิม จึงเป็นที่มาของคำแนะนำที่ว่า “ห้ามดื่มน้ำผลไม้ร่วมกับยา” หรือ “ดื่มน้ำผลไม้ห่างจากเวลารับประทานยาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง” เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทั้งยาและผลไม้อย่างเต็มที่
ข่าว/ภาพ : ธนันชนัย อุ่มสิม