โครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วย รพ.ศูนย์ขอนแก่น ที่ร้านยาคุณภาพ ผู้ป่วยพึงพอใจ สะดวกรับยาใก้ลบ้าน แถมติดตามใช้ยาต่อเนื่อง
วันที่ประกาศ 2016-03-20 อ่าน 2451 ครั้ง
เผย “โครงการระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยาคุณภาพ” หลัง คณะเภสัชศาสตร์ มข. ร้านยาคุณภาพ/ร้านยามีเภสัชกรประจำ 20 แห่ง สปสช. และโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นจับมือนำร่อง 1 ปี ผลประชาชนพึงพอใจ ช่วยผู้ป่วยภาวะโรคคงที่สะดวกรับยาใกล้บ้านตามใบสั่งแพทย์ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องลางานรับยาที่ รพ. แถมติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง แนะนำใช้ยาอย่างเหมาะสม พร้อมพัฒนางานบริการร้านยาควบคู่ หนุนระบบปฐมภูมิ เติมเต็มระบบบริการสุขภาพของประเทศ
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านยา) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานสาขาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงโครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วย โดยร้านยาคุณภาพและร้านยาที่มีเภสัชกรประจำว่า เป็นโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนนำเครือข่ายร้านยาคุณภาพในจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่นและโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เพื่อร่วมกันจัดทำระบบเติมยาให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และศูนย์แพทย์ชุมชนของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โดยเภสัชกรจากเครือข่ายร้านยาคุณภาพและร้านยาที่มีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ ในจังหวัดขอนแก่นที่มีการพัฒนาขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 20 ร้านยา มีวัตถุประสงค์พัฒนาระบบบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาบทบาทของเภสัชกรร้านยาให้มีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนด้านยาและสุขภาพ เนื่องจากร้านยาเป็นบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และกระจายอยู่ทั่วไปในชุมชน หากระบบสาธารณสุขของประเทศไทยสามารถดึงเภสัชกรร้านยาเข้ามามีส่วนร่วมได้ก็จะช่วยเติมเต็มระบบสุขภาพของประเทศได้
.
.
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม กล่าวว่า ในส่วนของโครงการนำร่องนี้ รูปแบบระบบการเติมยาจะเน้นเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะโรคคงที่แล้ว เหลือแต่เพียงการใช้ยาต่อเนื่องเท่านั้น โดยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายยา เบื้องต้นการส่งต่อผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาจะมี 2 ส่วน คือ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นส่งต่อร้านยาโดยตรง และศูนย์แพทย์ชุมชนเป็นผู้ส่งต่อผู้ป่วย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคหืดในเด็ก โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่ต้องได้รับยาควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยหรือญาติถือใบสั่งยาซึ่งได้รับจากโรงพยาบาลหรือศูนย์แพทย์ชุมชนพร้อมแผนที่ร้านยาที่ให้บริการเติมยา มาที่ร้านยา เภสัชกรร้านยาจะประเมินการใช้ยาของผู้ป่วยและจัดการปัญหาการใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจ่ายยาซึ่งเบิกจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย
ทั้งนี้รูปแบบดำเนินการ เบื้องต้นหลังแพทย์ทำการตรวจรักษาและสั่งจ่ายยา ซึ่งกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะโรคคงที่แต่ต้องรับยาต่อเนื่อง 3-6 เดือน โรงพยาบาลจะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเพียง 1 เดือนก่อน และในเดือนถัดไปให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาร่วมโครงการแทน เภสัชกรร้านยาจะให้คำแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมและช่วยติดตามการใช้ยาต่อเนื่องของผู้ป่วย เพราะที่ผ่านมาในกรณีที่ผู้ป่วยรับยารวดเดียว 3-6 เดือน มักพบปัญหายาเหลือ ผู้ป่วยไม่กินยา และผู้ป่วยสับสนกับการกินยา ซึ่งระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้เกิดการใช้ยาที่เบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยรายใดอาการไม่คงที่เภสัชกรจะประสานงานกับแพทย์ต่อไป และผู้ป่วยรายใดที่จำเป็นต้องเยี่ยมบ้านเพื่อค้นหาปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วย เภสัชกรร้านยาก็จะเยี่ยมบ้านให้
“ภายหลังดำเนินโครงการนำร่องประมาณ 1 ปี ปรากฎว่าประชาชนต่างพึงพอใจต่อระบบการเติมยานี้มาก เพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะอาการคงที่แต่ต้องรับยาต้องเนื่อง ณ จุดใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลทุกเดือน แต่จะไปเฉพาะตามแพทย์นัดตรวจติดตามอาการ 3-6 เดือนเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ทำงานก็ไม่ต้องลางาน เพราะสามารถรับยาที่ร้านยาหลังเลิกงานได้ ซึ่งการจ่ายยาของเภสัชกรที่ร้านยาจะเป็นไปตามใบสั่งยาของแพทย์โดยการเบิกจ่ายจากโรงพยาบาล” อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม กล่าวว่า การดำเนินโครงการระบบเติมยายังเป็นเพียงแค่การนำร่อง ซึ่งหากทำเป็นระบบจริงต้องมีการพัฒนาเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมด้านเภสัชกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องย้ำว่าไม่ใช่หน่วยบริการ่วมด้านการรักษา ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมต่อระบบเพื่อเติมเต็มการดูแลผู้ป่วยได้ พร้อมกับการพัฒนาร้านยาให้มีมาตรฐานเพื่อทำงานคุณภาพไปควบคู่ เพราะปัจจุบันเรามีบุคลากรด้านสุขภาพที่อยู่นอกโรงพยาบาลจำนวนมากซึ่งสามารถดึงเข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทยได้อย่างคุ้มค่า
ข่าว/ภาพ : ธนันชนัย อุ่มสิม